‘HPV’ รู้เร็ว ป้องกันได้ รักษาหาย ก่อนกลายเป็น “มะเร็งปากมดลูก”

‘HPV’ รู้เร็ว ป้องกันได้ รักษาหาย ก่อนกลายเป็น “มะเร็งปากมดลูก”

ด้วยวิธี HPV DNA test ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อ HPV

 

            มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ เมื่อเกิดรอยบาดแผลเล็กๆบริเวณเยื่อบุปากมดลูก เชื้อไวรัส HPV จะแทรกซึมไปยังบริเวณเซลล์ปากมดลูก และไปเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมภายในเซลล์ ทำให้เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติ และใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี เซลล์ที่ผิดปกติจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกและกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ทำให้ยากแก่การรักษาและมีโอกาสเสียชีวิตสูง

เชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

♦ กลุ่มที่ 1 :  HPV ชนิดความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก : มี 14 สายพันธุ์ ได้แก่ HPV16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 68, 73, และ 82  ทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงประมาณร้อยละ 70 รองลงมาคือ สายพันธุ์ 45, 31 และ 33

♦ กลุ่มที่ 2 : HPV ชนิดความเสี่ยงต่ำในการเกิดมะเร็งปากมดลูก : มักเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ ซึ่ง ร้อยละ 90 คือ สายพันธุ์ 6 และ 11 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก

  • การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (ต่ำกว่า 20 ปี)
  • อายุอยู่ในช่วง 30-50 ปี
  • มีคู่นอนหลายคน
  • มีประวัติเคยติดโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อซิฟิลิส เอชไอวี หนองใน เริม หูดหงอนไก่
  • การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ
  • ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน

                 จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 50-80 ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วมีโอกาสติดเชื้อ HPV อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต แม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียว ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ และเมื่อติดเชื้อแล้ว        มักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เป็นระยะเวลานานหลายปีกว่าเซลล์ปากมดลูกจะพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง และมากกว่าร้อยละ 90 จะหายได้เอง ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ผู้ป่วยจึงมาพบแพทย์เมื่อมีอาการแล้ว เช่นเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน นั่นคือมะเร็งมักเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงมีความสำคัญมาก

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

1. Pap smear, Pap test  มี 2 วิธี

  • Conventional Pap Smear หรือ Papanicolaou test : เป็นการใช้ไม้ป้ายเซลล์ตัวอย่างจากปากมดลูกลงบนแผ่นกระจกโดยตรง มีความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกได้ประมาณ 50-60%
  • Liquid base : เป็นการเก็บเซลล์เยื่อบุปากมดลูกด้วย Spatula ใส่ในขวดน้ำยาเพื่อรักษาสภาพเซลล์และกำจัดสิ่งปนเปื้อนพวกมูกเลือดก่อน แล้วจึงดูดเซลล์มาย้อมบนแผ่นกระจก                       มีความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกได้ประมาณ 70-80%


 

2. VIA (Visual Inspection with Acetic Acid)
               ใช้กรดน้ำส้มสายชูความเข้มข้น 3-5% ป้ายบริเวณปากมดลูกเพื่อดูว่าเนื้อเยื่อปากมดลูกมีความผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติจะเห็นว่าปากมดลูกเป็นฝ้าขาว ซึ่งต้องใช้ผู้ที่ชำนาญ                  ในการตรวจ และเป็นวิธีที่ไม่นิยมตรวจนักในปัจจุบัน
              

3. HPV DNA Test
               เป็นเทคนิคทางด้านชีวโมเลกุล เพื่อตรวจหาตัวเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งบริเวณปากมดลูกและผนังช่องคลอด จึงช่วยค้นหาและป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ในระยะก่อนการเป็นมะเร็ง ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้การตรวจ DNA เป็นวิธีแรกในการคัดกรองผู้ติดเชื้อ HPV เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก

                          ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA test แทนการตรวจด้วย Pap smear หรือ VIA ซึ่งเป็นไปตามข้อแนะนำ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฉบับปรับปรุงเดือนกันยายน 2561 ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของบริการตรวจคัดกรองมะเร็ง                ปากมดลูก

                 ส่วนรูปแบบของบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Test จะเป็นวิธีคัดกรองมะเร็งปากมดลูกลำดับแรกในกลุ่มหญิงไทยอายุ 30-60 ปี กรณีที่ผลการตรวจไม่พบเชื้อจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองทุก 5 ปี และในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจะทำการตรวจยืนยันซ้ำและเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

 

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

• ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือการตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อย, ลดการมีคู่นอนหลายคนโดยไม่ป้องกัน

• ตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้

• ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV  ควรฉีดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หรือตั้งแต่ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเหมาะสมที่สุดในการป้องกัน

 

 

อ้างอิง

• รศ.พญ. ประภาพร สู่ประเสริฐ.  มะเร็งปากมดลูก รู้เร็ว รักษาได้. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2566. จาก https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/news/pr-news/9989
• สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ.(2565).  ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test ค้นความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกในระดับพันธุกรรม. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2566. จากhttps://www.nhso.go.th/news/3634
• National Cancer Institute.(2023).  HPV and Cancer. Retrived 20 April 2023. From https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/infectious-agents/hpv-and-cancer#:~:text=High%2Drisk%20HPVs%20can%20cause,for%20most%20HPV%2Drelated%20cancers.

 

World Health Oragnization.(2021).  WHO recommends DNA testing as a first-choice screening method for cervical cancer prevention. Retrieved 20 April 2023. from https://www.who.int/europe/news/item/11-09-2021-who-recommends-dna-testing-as-a-first-choice-screening-method-for-cervical-cancer-prevention
 

เมดไทย.(2563).  การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก : แป๊ปสเปียร์ (Pap Smear, Pap test). สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2566. จาก https://medthai.com
 

อ.พญ.ชลัยธร นันทสุภา และ ศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์.  การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับสตรีไทย. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2566. จาก https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/cervical-cancer-screening-for-thais/

 

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ info@aechealthcare.com