ทำความรู้จัก Antigen Test Kit (ATK)

 

          กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาให้ใช้ แอนติเจน เทสต์คิต หรือ Antigen Test Kit (ATK) มาใช้ในการตรวจคัดกรองเบื้องต้น  เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดโดยเร็ว เรามาทำความรู้จักกันว่า Antigen Test Kit (ATK) คืออะไร

 

          Antigen Test Kit (ATK) คือ ชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งใช้เวลาในการตรวจประมาณ 15 – 20 นาที เร็วกว่าวิธีการตรวจแบบ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) ที่ใช้เวลาประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง แต่การตรวจแบบ Rapid Test เป็นแค่เพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ผลลัพธ์จะยืนยันได้ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเท่านั้น

          ถึงแม้ว่าการตรวจแบบ Rapid Test จะไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่แม่นยำได้ แต่ก็สามารถใช้คัดกรองในเบื้องต้นเหมาะสำหรับผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เพื่อลดปัญหาความแออัดและการรอคิวนานจากการเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล และยังเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ตรวจพบเชื้อได้เร็วขึ้น เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

         เรามาดูกันก่อนว่าการตรวจ Antigen คืออะไร เป็นการตรวจหาตัวไวรัส หรือองค์ประกอบของไวรัส ซึ่งเจ้าโควิด-19 พอเข้าไปในร่างกายแล้ว จะไปสะสมอยู่ในสารคัดหลั่ง โดยเฉพาะน้ำมูกและน้ำลาย การเก็บตัวอย่างก็จะเก็บจากทางจมูก หรือทางช่องปากถึงคอ จะใช้วิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับชุดตรวจแต่ละยี่ห้อ

          ควรใช้ชุดตรวจเมื่อไหร่ หากว่าเราไปสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ แล้วมาตรวจทันที ก็อาจจะไม่พบเชื้อ ควรตรวจหลังจากวันที่คาดว่ารับเชื้อ 3-5 วันไปแล้ว และจะให้ผลแม่นยำมากที่สุด หลังรับเชื้อภายใน 5-14 วัน สำหรับคนที่เคยติดเชื้อ แต่หายดีแล้วใช้ชุดเทสต์นี้ ผลก็จะเป็นลบเพราะในร่างกายไม่มีเชื้อแล้ว แต่ต้องย้ำว่านี่คือการตรวจเบื้องต้น หากว่าผลออกมาเป็นลบ ให้แปลว่ายังไม่ติดเชื้อ อาจจะมีเชื้อน้อย หรือเชื้อยังไม่ฟักตัว หากคุณเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสผู้ป่วย ก็ยังต้องกักตัวต่อไปจนครบ 14 วัน และตรวจใหม่อีกครั้ง แต่หากผลออกมาเป็นบวก ก็ต้องไปตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ถ้าตรวจแล้วผลออกมาเป็นลบ ก็แปลว่าผล ATtK เป็น False Positive หรือผลบวกเทียม ให้กลับไปกักตัวดูอาการที่บ้าน แต่ถ้าบวกเหมือนกัน แปลว่าติดแน่นอน ก็เข้าสู่กระบวนการรักษา

 

ชุดตรวจโควิด-19 Rapid Antigen Test มีวิธีการใช้งานอย่างไร? มาดูกัน

          สำหรับชุดตรวจ Rapid Antigen Test ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนจาก อย. ภายในชุดตรวจจะประกอบด้วย ตลับทดสอบ หลอดใส่น้ำยาสกัด ฝาหลอดหยด ก้านสำลีสำหรับ Swab และเอกสารกำกับชุดตรวจ ส่วนวิธีการใช้งานนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำแนวทางการใช้ ดังนี้

 

 

  1. ล้างมือตัวเองให้สะอาด
  2. ฉีดสเปรย์แอลกอลฮอล์หรือทำความสะอาดโต๊ะที่จะใช้
  3. ตรวจสอบวันหมดอายุของ Antigen Test Kit (ATK)
  4. แกะซองนำอุปกรณ์ออกมา การแกะซองไม้ป้ายจมูก (Swab) ให้แกะตรงด้าม เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณสำลี
  5. จับไม้ป้ายจมูก (Swab) โดยไม่ให้นิ้วมือเลยขีด
  6. ก่อนใช้ไม้ป้ายจมูก (Swab) แยงเข้าไปในจมูก ให้ตรวจสอบตามคู่มือก่อนว่าต้องแยงเข้าไปลึกเท่าใด เนื่องจากแต่ละยี่ห้อกำหนดความลึกในการแยงไม่เท่ากัน เช่น 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว
  7. ใช้ไม้ป้ายจมูก (Swab) ส่วนที่เป็นสำลี แยงเข้าไปในจมูกตามความลึกที่กำหนด จากนั้นหมุนในรูจมูกข้างละไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง หรือนาน 15 วินาที
  8. เมื่อหมุนไม้ป้ายจมูก (Swab) ในรูจมูกครบทั้ง 2 ข้างแล้ว ให้นำส่วนที่เป็นสำลีใส่ลงในภาชนะทรงกรวย พร้อมกับบีบกรวยเพื่อให้น้ำเข้าทั่วถึงบริเวณสำลี โดยหมุนไม้สวอบให้มากกว่า 10 ครั้ง
  9. นำไม้ป้ายจมูก (Swab) ออกพร้อมกับปิดฝาหยดบนภาชนะทรงกรวย
  10. คว่ำภาชนะทรงกรวยเป็นมุม 90 องศา หยดน้ำลงบนหลุมของอุปกรณ์ตรวจวัด บางยี่ห้อให้หยดประมาณ 4 หยด แต่ละยี่ห้ออาจให้หยดในปริมาณแตกต่างกันไป
  11. จับเวลาประมาณ 15-20 นาที แล้วแต่ยี่ห้อ (ห้ามเกินเด็ดขาด)
  12. ระหว่างนี้ของเหลวจะไหลไปตามช่อง ซึ่งต้องไหลผ่านไปถึงช่องที่มีอักษรตัว C หากไปไม่ถึง      จะถือว่าใช้ไม่ได้
  13. เมื่อครบเวลาแล้ว หากปรากฏขีดขึ้นมา 1 ขีด ถือว่าไม่พบเชื้อโควิด แต่หากขึ้นมา 2 ขีด แปลว่าพบเชื้อ
  14. หลังทราบผลแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวจะถือเป็นขยะติดเชื้อทันที ต้องรับผิดชอบด้วยการนำทิ้งใน   ถุงแดง ปิดให้มิดชิด เขียนว่าขยะติดเชื้อก่อนนำไปทิ้ง

(ทั้งนี้ ควรศึกษาคู่มือของ Antigen Test Kit (ATK) ของแต่ละยี่ห้ออย่างละเอียด ก่อนนำไปใช้)

 

วิธีการใช้งาน

 

วิธีอ่านผลตรวจ

  • หากตรงตัวอักษร C ขึ้นขีดเดียว แปลว่า ผลตรวจเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ)
  • หากตรงตัวอักษร C และ T ขึ้น 2 ขีด แปลว่า ผลตรวจเป็นบวก (พบเชื้อ)
  • หากไม่มีขีดที่ตัว C และ T หรือปรากฎแค่ตรง T แปลว่า แผ่นเทสเสีย

กรณีผลเป็นบวก (พบเชื้อ) ให้ปฏิบัติดังนี้

  • เข้ารับการตรวจยืนยันผลแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
  • ระหว่างนั้นให้กักตัวเองแยกจากผู้อื่นและหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน
  • แจ้งผู้ใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง ให้เข้ารับการตรวจเชื้อ

 

กรณีผลเป็นลบ (ไม่พบเชื้อหรือเชื้อมีปริมาณไม่มากพอ) ให้ปฏิบัติดังนี้

  • หากเป็นผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติด ให้ทำการทดสอบซ้ำอีกใน 5 – 7 วัน ในระหว่างนั้นต้องกักตัวแยกจากผู้อื่นเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อ
  • หากมีอาการของโรคโควิด-19 ให้ทำการทดสอบซ้ำทันที โดยเฉพาะหากมีอาการทางเกี่ยวกับการหายใจ ให้ไปตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ทันที

 

          ในช่วงเวลานี้ การเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นเรื่องที่ลำบากมาก เนื่องจากชุดอุปกรณ์ไม่เพียงพอรวมทั้งความแออัดเบียดเสียดในการรอตรวจ ชุดตรวจ Rapid Antigen Test จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ออกมารองรับปัญหาเหล่านี้ แม้จะไม่สามารถการันตีผลได้แต่อย่างน้อยก็สามารถใช้คัดกรองเบื้องต้นได้

 

อย่าลืมนะคะว่าช่วงนี้ต้องดูแลตัวเองให้มาก หากไม่จำเป็นไม่ควรออกจากบ้าน

เพื่อลดอัตราการเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 กันนะคะ

 

⇒ อัพเดตรายชื่อชุดตรวจ COVID-19 ประเภท Rapid Antigen Test Kits ของบริษัท เออีซีเฮลธ์แคร์ จำกัด ที่ได้รับการอนุญาตนำเข้าจากอย. ได้ที่นี่

⇒ สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ คลิกที่นี่