14 มีนาคม 2566 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดพิธีลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบ DMSc-TB FastAmp (TB-LAMP) ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับบริษัท เออีซี เฮลธ์แคร์ จำกัด โดยมี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และนายนนทศักดิ์ ประยูรเธียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เออีซี เฮลธ์แคร์ จำกัด ร่วมลงนาม และมีนายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้บริหารบริษัท เออีซี เฮลธ์แคร์ จำกัด เป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 902 ชั้น 9 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis เกิดได้ในหลายอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอด (ร้อยละ 80) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย นอกจากนี้อาจพบวัณโรคนอกปอดได้ในอวัยวะอื่น ๆ ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ประเทศไทยมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค 150 ต่อ 100,000ประชากรหรือประมาณปีละ 105,000 คน โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินยาให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง อย่าหยุดกินยาเองเด็ดขาด และไปพบแพทย์ตามนัดจนกว่าแพทย์จะหยุดสั่งยา เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาได้ อย่างไรก็ตามการยุติปัญหาวัณโรคของประเทศจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งด้านการค้นหาผู้ป่วย การรักษา รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับวัณโรคสู่ประชาชน
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคและผู้ป่วยให้ครอบคลุมโดยเฉพาะการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งการควบคุมวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ จะต้องวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องรวดเร็วและรักษาด้วยยาที่ได้ผล ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้พัฒนาชุดทดสอบ DMSc-TB FastAmp (TB-LAMP) สำหรับตรวจหาเชื้อกลุ่มวัณโรค ด้วยเทคนิค LAMP ซึ่งเป็นวิธีการตรวจดีเอ็นเอของเชื้อวัณโรคจากตัวอย่างเสมหะ โดยการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม วิธีการตรวจง่าย มีความแม่นยำสูง สามารถอ่านผลรวดเร็วได้ด้วยตาเปล่า รู้ผลใน 2 ชั่วโมง สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงใช้ตรวจเพิ่มในรายที่มีผลตรวจย้อมเชื้อในเสมหะเป็นลบ
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวัณโรค ปัจจุบันมีโรงพยาบาลต่าง ๆ ในประเทศไทย สามารถใช้ชุดตรวจด้วยชุดทดสอบนี้ ครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่า 40 แห่ง ซึ่งจะส่งผลดีในการค้นหาผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค หรือกลุ่มเป้าหมายในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค และเพื่อรองรับการผลิตที่มีปริมาณมากขึ้น จึงได้ถ่ายทอดให้บริษัทเอกชนผลิตในเชิงพาณิชย์จะช่วยให้สถานพยาบาลสามารถเข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่เหมาะสมภายใต้การดูแลองค์ความรู้และเทคโนโลยีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการเพิ่มช่องทางการให้บริการกับหน่วยงานที่มีความประสงค์ใช้ชุดทดสอบนี้ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน สามารถค้นหาผู้ป่วยได้รวดเร็ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการควบคุมและป้องกันวัณโรคให้หมดไปจากประเทศไทยอีกด้วย” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย